
ที่ผ่านมา ชื่อของ วิ วิชชุกร โชคดีทวีอนันต์ที่ปรากฏในสื่อ มักจะต่อท้ายด้วยแบรนด์ Greyhound เป็นเหมือนนามสกุลที่สอง เพราะที่นี่คือต้นสังกัดที่เธอทำงานเป็นดีไซเนอร์ประจำมายาวนานมากกว่าสิบปี นับตั้งแต่เรียนจบแฟชั่นดีไซน์ที่มิลาน จนเมื่อหนึ่งปีก่อนที่คุณแม่ของเธอล้มป่วย การทำงานประจำพร้อมกับดูแลลูกสองคน และยังต้องประคับประคองอาการป่วยของผู้หญิงที่รักที่สุดในชีวิต ทำให้เธอตัดสินใจทิ้งงานที่รักและผูกพัน ออกมาดูแลคนในครอบครัว รวมทั้งออกแบบเส้นทางการทำงาน และการใช้ชีวิตที่สมดุล และกลมกลืนกับธรรมชาติให้ได้มากที่สุด ทั้งยังค้นพบความจริงของชีวิตที่เธออยากจะแบ่งปันกับเรา

เริ่มรักโลกให้ลึกซึ้ง
“จริงๆ แล้วเราไม่มีความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมมาก่อนเลย แต่เป็นคนชอบต้นไม้ ตอนแรกที่เลือกโรงเรียนให้ลูกก็เพราะชอบที่ต้นไม้เขาเยอะค่ะ (หัวเราะ) ไม่ได้คิดอะไรเลย เพราะวิเป็นคนที่ไม่ชอบเรียนหนังสือ เลยอยากได้โรงเรียนที่ลูกได้เล่น เอาที่ต้นไม้เยอะๆ ใกล้ๆ ออฟฟิศก็แล้วกัน โชคดีมากที่โรงเรียนของลูก เขามีโปรเจกต์ร่วมกับ Chula Zero Waste เพราะว่าที่โรงเรียนเขาเข้มข้นเรื่องนี้อยู่แล้ว ที่โรงเรียนจะมีถังขยะแยกประเภทแบบละเอียด เวลาทิ้งก็ต้องล้างภาชนะก่อน คือเน้นการให้ความรู้ที่ถูกต้อง
“สิ่งที่ทำให้วิอิน เพราะโรงเรียนเขาจะให้ผู้ปกครองไปเข้าอบรมอยู่เรื่อยๆ ตอนแรกก็ยังงงๆ ว่าจะได้อะไร แต่พอไปฟังแล้วกลายเป็นว่าเราตื่นเต้นที่จะไปฟังอีก เพราะโลกเรามันจะแย่แล้ว แล้วถ้าลูกเราโตขึ้น เขาหันมาถามเราว่าทำไมแม่มีโอกาสแล้วทำไมตอนนั้นแม่ไม่ช่วย
“การบ้านปิดเทอมของเด็กๆ ก็เปิดโอกาสให้พ่อแม่ได้ลองมาสัมผัสไลฟ์สไตล์แบบนี้ด้วย เพราะเขาให้เด็กลดขยะ แล้วให้พ่อแม่ส่งการบ้านด้วยการติดแฮชแท็กให้ครูเข้าไปตรวจ หรือถ้าไม่อยากแชร์ในเฟซบุ๊ก จะทำเป็นรายงานมาส่งก็ได้ มันกลายเป็นว่าเวลาออกจากบ้าน เราต้องพกแก้วกาแฟ เวลาไปรับลูกก็ต้องพกกล่องไปเอง เพราะเขาจะขายขนมแบบตักใส่กล่องให้ คือถ้าไม่ได้เตรียมกล่องไปก็อดกิน ลูกก็จะรู้ว่าในกระเป๋าเรามีกล่องเผื่อมาด้วย
“หลายคนอาจจะรู้สึกว่ามันยากมาก เพราะเราเห็นถุงพลาสติกเป็นเรื่องปกติไปแล้ว แต่กับที่นี่เราจะรู้สึกผิดมากถ้าหิ้วถุงพลาสติกในโรงเรียน พ่อแม่ทุกคนจะมีตะกร้า กระติกน้ำ กล่องทัปเปอร์แวร์สามชั้นแบบจริงจัง ซึ่งพอเราเริ่มเอามาทำเองข้างนอก เอาแก้วไปเติมเวลาซื้อกาแฟ ได้ส่วนลดแถมได้ลดการใช้ Single Use Plastics ด้วย ก็จะรู้สึกประทับใจกับตัวเอง
“จนเดี๋ยวนี้มันก็กลายเป็นนิสัย…หลังๆ เราพาพี่เลี้ยงไปอบรมที่โรงเรียนด้วย ได้ฟังไปถึงเรื่องไมโครพลาสติก จากเดิมที่เขาถามว่าเราล้างถุงพลาสติกมาตากทำไม ก็เข้ามาช่วยเราแยกขยะ หรือเตรียมกล่องเวลาออกจากบ้าน คือวิว่าเราได้ยินเรื่องสิ่งแวดล้อมกันบ่อยแล้วล่ะ แต่พอไม่ได้เข้าใจลึกซึ้งพอ ก็จะยังไม่คิดว่าทำไมเราต้องเปลี่ยน” คุณวิพาเราไปดูถุงพลาสติกใสใบใหญ่หลายใบที่ซ่อนอยู่ในครัว แต่ละถุงมีขยะรีไซเคิลที่แยกตามประเภทและล้างสะอาดแล้ว พร้อมสำหรับนำไปขายต่อ

สร้างแบรนด์ผ้าไทยฉบับ Upcycling…ใครเห็นเป็นต้องทัก

“คุณแม่มีโรงงานทอผ้าเล็กๆ เป็นพวกผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้ามัดหมี่ ปีก่อนน้องชายก็เลยเข้ามารับช่วงต่อ แล้วพอดีมันเป็นผ้าสำหรับเฟอร์นิเจอร์ ลายมันก็จะใหญ่ๆ ดูมีสไตล์ไปอีกแบบ เราเลยรู้สึกว่าผ้าพวกนี้มันเจ๋งดีนะ แถมมีเหลืออยู่เยอะมาก เก็บไว้เดี๋ยวมันก็เก่า ก็มานั่งนึกว่าจะเอามาทำอะไรดีให้เป็นประโยชน์ ลองหยิบมาทำเป็นของชิ้นเล็กๆ ทำเสื้อผ้าใส่เองเล่นๆ ก่อน จนเริ่มมีคนเข้ามาถาม เราก็เลยค่อยๆ ทำขายมาเรื่อยๆ
“เนื่องจากมันเป็นผ้าที่มีความหนา ไม่ได้เหมาะกับการทำโปรดักต์ทุกแบบ หลักๆ ก็เลยจะทำเป็นกระเป๋า กางเกง เสื้อคลุมกิโมโน ดีไซน์ให้เหมาะกับผ้าที่มี เพราะเราจะใช้แต่ผ้าที่มีอยู่แล้ว คือไม่ได้ออกแบบแล้วสั่งผลิตเพิ่ม หมดแล้วหมดเลย คล้าย Upcycling เหมือนกันนะ คือเอาของที่มีอยู่มาเพิ่มมูลค่า บางทีลูกค้าทักมาเราก็ต้องบอกว่าแบบนี้จะมีทำออกมาเพิ่มนะ แต่ลายนี้ไม่มีแล้ว
“ช่วงเวลาที่ทำงานนี้คือตอนที่ลูกหลับแล้ว คือหลังสี่ทุ่ม เป็นงานที่ทำที่บ้านจริงๆ เราก็ทดลองทำโน่นนี่แล้วออกแบบดู ส่งไลน์ทิ้งไว้แล้วตอนเช้าค่อยมาคุยกับช่าง เราเป็นร้านเล็กๆ มีช่างเก่าแก่กำลังจะอายุหกสิบอยู่สองสามคน ก็เอางานพวกนี้ให้เขาลองทำดู ตอนแรกเขาก็สงสัยว่าทำแบบนี้ได้เหรอ แต่พอลองทำไปเขาก็สนุก ช่วยเราจับโน่นนี่มาใส่ เป็นงานที่เป็นความสุขของเรา ทำให้เราได้เอาทักษะด้านดีไซน์กลับมาใช้ด้วย

ตอนที่เริ่มทำแบรนด์นี้คือช่วงที่ออกจากงานเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งยุ่งมาก เราก็ค่อยๆ ทำเท่าที่เราไหว เพราะคิดว่าแม้จะมีอย่างอื่นต้องทำ แต่เราก็ควรมีเวลาทำสิ่งที่ชอบด้วย ตอนแรกก็ยังไม่รู้หรอกว่าทำแล้วจะชอบ แต่พอทำไปทำมา ได้คุยกับลูกค้าแล้วเขาแฮปปี้ มันก็กลายเป็นงานอดิเรกที่จริงจังขึ้น”

“ตอนแรกที่เห็นแบบบ้านเราก็ยังไม่ได้อะไรมาก แต่พอได้เห็นบ้านจริงแล้วชอบมาก มันเป็นบ้านที่ทุกห้องตอนกลางวันไม่ต้องเปิดไฟก็ได้ เพราะมีแสงธรรมชาติ มีโถงสกายไลต์ สูง 6 เมตรอยู่กลางบ้าน เป็นโครงการที่เรารู้สึกว่าอยากจะเข้าไปทำอะไรด้วย เพราะได้ทำบ้านที่ดีให้ลูกบ้านที่มาอยู่ เป็นโครงการที่ดีที่ทำด้วยความเชื่อ และเราอยากจะช่วยให้มันสำเร็จ วิเข้าไปช่วยดูเรื่องมาร์เก็ตติ้ง เรื่องการตกแต่งเล็กๆ น้อยๆ ช่วยเลือกต้นไม้ในโครงการ แล้วก็งานขายซึ่งเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับวิ ทำให้ได้เรียนรู้และเห็นวิธีคิดของคนทำงานต่างสายทุกวัน”

ใช้ชีวิตให้เหมือนปลูกต้นไม้
“จุดเปลี่ยนชีวิตของวิคือการได้เห็นคุณแม่ที่เป็นคนที่แข็งแรงมาก มาป่วยมากๆ คุณแม่เป็นผู้หญิงสวยที่ทำงานมากกว่าคนอื่นสามสี่เท่า เอ็นจอยกับการทำงานและทุกอย่างในชีวิตมาก แล้วอยู่ๆ พอเจอโรคที่ท่านเป็น เหมือนกราฟมันดิ่งลงมาเลย ชีวิตมันไม่แน่นอน มันทำให้เรามีสติและไม่ประมาทในการใช้ชีวิต ทำอะไรก็ทำให้เต็มที่ แต่ต้องมอนิเตอร์แต่ละด้านให้ดี เช่นปีนี้มาประเมินผลตัวเองว่าตัวเองออกกำลังน้อยมากเลยนะ ปีหน้าก็ตั้งเป้าให้ดีขึ้น ปีนี้ทำงานไหนเยอะเกินไปก็อาจจะผ่อนลง มีเวลาให้ลูกมากขึ้น
“ก่อนมีลูกเราคุยกับแฟนว่าอยากให้ลูกเป็นคนดี มีความสุข แต่หลังจากเวลาผ่านไปก็รู้แล้วว่า จริงๆ แล้วความทุกข์มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เพราะฉะนั้นลูกต้องอยู่กับความทุกข์ได้ และปรับวิธีคิดได้ด้วยว่าเมื่อทุกข์แล้วจะแก้อย่างไร ที่โรงเรียนเขาก็สอนเด็กให้เข้าใจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค พ่อแม่ต้องปฏิบัติธรรมปีละ 6 ครั้ง แล้วก็ให้ลองแก้ปัญหาเรื่องลูกด้วยวิธีนี้ด้วย เราลองแล้วก็ได้ผล เช่น ลูกเราร้องไห้งอแงตอนเช้าบ่อย เราก็ต้องมาหาเหตุของปัญหาแล้วก็หาทางแก้ มันก็ได้ผลสรุปว่าบางทีที่ลูกมีปัญหา เรามีส่วนนะ เราอาจจะกลับบ้านดึก เล่นกับเขาจนดึกเกินไป หรือก่อนนอนเล่นอะไรที่ใช้พลังงานจนนอนไม่หลับ ก็เริ่มปรับว่ามาอ่านนิทานก่อนนอนแทนไหม หรือคุยกันว่าเราจะให้ลูกเล่นแรงๆ ได้ถึงกี่ทุ่ม
“เลี้ยงลูกก็เหมือนปลูกต้นไม้ ต้องลองใส่ปุ๋ย ตัดแต่งกิ่งตรงโน้นมาปักตรงนี้ อาจจะดี หรืออาจจะไม่ดีก็ได้ เมื่อก่อนเราปลูกต้นไม้ไม่เป็น พอลูกมีการบ้านให้เอาต้นไม้มาปลูกไม่ให้ตาย ได้ลอง ได้เรียนรู้ ก็สนุกดี”

ส่วนเรื่องการแบ่งเวลา คุณแม่ลูกสองของน้อง ‘มี’ และน้อง ‘เวลา’ พูดติดตลกว่า คงเพราะอย่างนี้ เธอถึงไม่ค่อยมีเวลาเท่าไร “ตอนนี้เวลาของวิก็คือหลังสี่ทุ่มที่ทุกคนเข้านอนแล้ว (หัวเราะ) จริงอยู่ว่าต่อให้เราเป็นแม่เราก็ต้องมีพื้นที่ของตัวเอง แต่วิเป็นคนชอบทำงาน เราแฮปปี้เวลาใช้เวลาส่วนตัวไปกับการทำงาน ถ้าเป็นไปได้เราก็จะจัดกิจกรรมของลูกกับของเราให้เบลนด์เข้าหากัน
“วิว่าบางทีเรื่องเวลามันแบ่งไม่ได้หรอกว่านี่เวลางาน เวลาของตัวเอง หรือเวลาของใคร บางทีมันต้องอยู่รวมๆ กันไปเลยแล้วมันถึงจะใช่มากๆ คือช่วงเวลาทำงานมันก็มีตัวเองอยู่ในนั้น ช่วงเวลาที่เราดูแลครอบครัวมันก็อาจจะมีงานปนอยู่ในนั้น”
เพราะสุดท้ายแล้ว ชีวิตที่ดีน่าจะเป็นชีวิตที่ทุกอย่างกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันอย่างสมดุล ทั้งกลมกลืนระหว่างการงาน ครอบครัว และตัวตน และกลมกลืนระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อม
